วันอังคารที่ 26 มีนาคม พ.ศ. 2556

ตอนที่ 3.สิบขันที เเละ การคดโกง

พระเจ้าเลนเต้เองก็ถูกเลี้ยงโดยขันที ดังนั้นเมื่อครองราชย์แล้ว จึงทรงยกย่องขันทีคนหนึ่งชื่อ “เตียวเหยียง” เป็นบิดาบุญธรรม และเพราะเหตุที่ถูกเลี้ยงดูโดยขันที ดังนั้นจึงมีความใกล้ชิดสนิทสนมไว้เนื้อเชื่อใจขันทีเป็นพิเศษ มีความเคารพยำเกรงขันทีเป็นพิเศษ

ขันทีที่มีความใกล้ชิดสนิทสนมในลักษณะเช่นนี้ มีอยู่สิบคน ซึ่งสามก๊กเรียกว่า “สิบขันที” คือเทาเจียด, เตียวต๋ง, เตียวเหยียง, ฮองสี, ต๋วนกุย,เหาลำ, เกียนสิด, เห้หุย, ก๊กเสง และเชียกง 

ในจำนวนขันทีสิบคนนี้ได้ยกย่องให้เทาเจียดเป็นหัวหน้า ในขณะที่เตียวเหยียงเป็นคนที่พระเจ้าเลนเต้เคารพและยำเกรงเป็นพิเศษในฐานะที่ทรงยกย่องเป็นบิดาบุญธรรม 

ความจริงชื่อของบุคคลในสามก๊กมีเป็นจำนวนมาก ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องจดต้องจำ แต่การจะไม่กล่าวถึงชื่อขันทีทั้งสิบคนเห็นจะไม่ได้ เพราะเป็นตัวละครสำคัญที่เป็นต้นตอทำให้แผ่นดินเกิดจลาจลวุ่นวายแล้วแตกเป็นสามก๊ก ทั้งเป็นตัวละครที่ก่อปัญหาวุ่นวายถึงสองรัชกาลขันทีทั้งสิบคนได้ร่วมคิด ร่วมมือกันครอบงำอำนาจบริหารของพระเจ้าเลนเต้ อย่างสิ้นเชิง กิจการภายในราชสำนักทั้งปวงขึ้นอยู่กับความคิดความเห็นของขันทีทั้งสิบคน จึงเป็นเหตุให้เหล่าขุนนางทั้งปวง เกรงกลัวไม่กล้ากระทำการหรือเพ็ดทูลสิ่งใดให้เป็นที่ขัดใจของขันทีขุนนางคนใดแสดงอาการให้เห็นว่าไม่เป็นพวก ไม่เคารพ หรือไม่ยำเกรง ก็จะถูกสิบขันทีแกล้งเพ็จทูลให้พระเจ้าเลนเต้ถอดออกจากตำแหน่ง หรือโยกย้ายไปทำราชการในถิ่นทุรกันดาร หรืออาจถูกเพ็ดทูลให้ลงโทษประหารหนังสือราชการที่หัวเมืองต่าง ๆ รายงานเข้ามายังราชสำนักจะถูกกลั่นกรองโดยขันทีเสียชั้นหนึ่งก่อน หนังสือออกจากราชสำนักรวมถึงพระบรมราชโองการต่าง ๆ ก็เกิดขึ้นจากความคิดความเห็นของขันที จัดทำโดยเหล่าขันที และจัดส่งไปยังหัวเมืองต่าง ๆ โดยคนของขันที เป็นหนทางให้ลูกน้องของขันทีได้ค่าน้ำร้อนน้ำชาอีกทางหนึ่ง

การแต่งตั้งเจ้าเมืองไปครองเมืองต่าง ๆ ขันทีก็จะเรียกเอาสินบนทุกเมืองไป คนใดไม่ยอมให้สินบนแก่ขันทีก็จะถูกกลั่นแกล้ง ในชั้นต้นอาจจะแกล้งไม่ให้ได้รับแต่งตั้ง หากขัดขวางในชั้นนี้ไม่ได้ ในภายหลังก็จะกลั่นแกล้งเพ็จทูลเอาเป็นโทษ ซึ่งอาจจะเป็นโทษปลดออกจากราชการ หรือโทษถึงลงพระราชอาญา หากข้อหาหนักก็ต้องถูกประหาร 
เจ้าเมืองคนใดยอมอยู่ในอำนาจ ขันทีก็จะจัดส่งคนไปเรียกเก็บส่วยทุกปี และจำนวนส่วยก็จะเพิ่มขึ้นทุกปีดุจกัน เจ้าเมืองบางคนในระยะแรกสามารถทนกับระบบส่วยได้ แต่นานไปทนแรงส่วยไม่ไหวก็ต้องลาออกเพราะขืนทนรับราชการต่อไปก็ต้องถูกปลด ถูกถอดหรือต้องโทษ 

ค่าภาษีต่าง ๆ ที่หัวเมืองจัดเก็บส่งเข้าเมืองหลวงตามปกติก็ถูกขันทีชักส่วนแบ่งตั้งแต่ร้อยละ 10 หนักเข้าก็ชักส่วนแบ่งถึงร้อยละ 50 ทำให้รายได้ของแผ่นดินไม่พอเพียงกับรายจ่าย เป็นเหตุให้พระเจ้าเลนเต้ต้องขึ้นภาษีเอากับราษฎรบ่อยครั้งจึงกล่าวได้ว่าราษฎรในยุคสมัยของพระเจ้าเลนเต้ถูกขูดรีดภาษีหนักที่สุด ด้านหนึ่งหนักเพราะการฉ้อราษฎร์บังหลวงของเหล่าขันทีและขุนนางที่เป็นพวก ด้านหนึ่งหนักเพราะรายจ่ายเพิ่มมากขึ้นเพื่อบำรุงบำเรอความสุข และเพื่อจัดส่วนแบ่งให้แก่ขันทีและขุนนาง

เมื่อขุนนางข้าราชการทั้งในเมืองหลวงและหัวเมืองต้องจ่ายเงินค่าส่วยสินบน และมีความรั่วไหลเกิดขึ้นในงบประมาณแผ่นดินมากมายเช่นนี้ ราษฎรก็ถูกรีดนาทาเร้นหนักขึ้นทุกวัน ราษฎรกลายเป็นคนยากจนและยากไร้ ไม่มีที่ทำกิน และไม่มีกิน จนต้องปล้นชิงวิ่งราวกันทั่วทั้งแผ่นดินหนักเข้าข้าราชการทั้งในเมืองหลวงและในหัวเมืองต่างประพฤติตนเป็นโจร ปล้นชิงวิ่งราวเสียเองอย่างหนึ่ง เลี้ยงโจรให้ปล้นชิงวิ่งราวมาแบ่งกันอย่างหนึ่ง ค้าของหนีภาษี ค้าของเถื่อนอย่างหนึ่ง และเอาที่หลวง เอาประโยชน์ของหลวงไปทำมาหากิน ไปแสวงหาประโยชน์อีกอย่างหนึ่ง

คดีความทั้งปวงก็ตัดสินไปตามน้ำหนักของเงินสินบน ขาวถูกกลับเป็นดำ ดำถูกกลับเป็นขาว ความเดือดร้อนจลาจลจึงเกิดขึ้นทั้งแผ่นดิน โดยที่ไม่มีใครกล้าพูด กล้ากราบทูล 


ขอขอบคุณ 

บางช่วงบางตอนจาก สามก๊กฉบับคนขายชาติ
http://www.paisalvision.com/2008-10-30-11-41-42/53--3-.html
ภาพจากเกมส์ Romance of the kingdom 12

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น