วันเสาร์ที่ 20 กรกฎาคม พ.ศ. 2556

เคาเจ้ง นักดูคน


ช่วงอายุ ???-222


ประวัติ และ ลักษณะนิสัย

เคาเจ้ง ที่ปรึกษาของจ๊กก๊ก เป็นชาวเมืองยีหลำ เขาเป็นคนที่มีชื่อเสียงโด่งดังในเรื่องการอ่านบุคลิก และวิเคราะห์ลักษณะของคนอื่น 


รับราชการ

เคยเป็นที่ปรึกษาคนหนึ่งของเล่าเจี้ยง หลังจากที่เล่าเจี้ยงยอมจำนนต่อเล่าปี่ เคาเจ้งได้สาบานว่าจะสวามิภักดิ์ต่อเล่าปี่อย่างจริงใจ 


ตำแหน่ง

หลังจากเล่าปี่ได้สถาปนาตนเองเป็นฮ่องเต้แล้ว เค้าเจ้งก็ได้รับตำแหน่งเป็นราชครู 


ขอขอบคุณ


รูปภาพเเละข้อมูลจากเกมส์ Romance of the three kingdom 12

งำเต็ก ผู้เดินสารสวามิภักดิ์


ช่วงอายุ 170-243


ประวัติ เเละ ลักษณะนิสัย

งำเต็ก ที่ปรึกษาของง่อก๊ก เป็นชาวตำบลซานอิน เมืองหุ้ยจี มณฑลซานซี มีชื่อทางการเต๊อะหยุน วัยเด็กยากจน ไม่มีเงินซื้อตำราอ่าน ต้องอาศัยยืม หรือ อ่านพร้อมผู้อื่นแต่มีความจำเป็นเลิศ ถ้าได้อ่านรอบเดียวก็จำได้แม่นไม่มีวันลืม ทั้งยังพูดเก่งใจกล้า


รับราชการ

เข้าราชการกับซุนกวนในศึกเซ็กเพ็ก 

บทบาทสำคัญ

เดินสารสวามิภักดิ์

นอกจากจิวยี่และขงเบ้งแล้ว งำเต็กเป็นเพียงผู้เดียวที่มองว่า การที่จิวยี่สั่งให้โบยอุยกายจนสาหัสปางตายนั้น เป็นเพียงอุบายที่ต้องหลอกโจโฉ ตกกลางคืนงำเต็กลอบเข้าไปหาอุยกายที่กระโจม จึงแน่ชัดว่าที่ทำไปทั้งหมดนั้นเป็นอุบาย ด้วยความเสียสละของอุยกาย งำเต็กจึงอาสาเป็นคนนำสารสวามิภักดิ์จากอุยกายไปหาโจโฉ 

เมื่อข้ามไปถึงโจโฉไม่เชื่อใจความในจดหมาย สั่งให้เอางำเต็กไปประหาร แต่งำเต็กหัวเราะเยาะ พร้อมชี้แจงเหตุผลและใช้วาทศิลป์โน้มน้าวว่า อุยกายเห็นที่จะเจ็บตัวเปล่า โจโฉสั่งไม่ประหาร แต่ก็ยังไม่เชื่อใจนักทีเดียว

เมื่อกลับมาแล้ว งำเต็กยังได้ร่วมมือกับกำเหลงรองแม่ทัพเรือ หลอกชัวต๋งและชัวโฮ น้องชายของชัวมอที่แสร้งเข้ามาสืบข่าวฝ่ายง่อก๊กโดยทำเป็นสวามิภักดิ์ว่าอุยกายคิดทรยศจริงเพื่อให้ทั้งคู่ส่งข่าวลวงไปให้ โจโฉเชื่อสนิทใจ ซึ่งนี่ก็เป็นสาเหตุสำคัญอีกประการหนึ่งที่ทำให้กองทัพเรือของโจโฉถูกเผาจนวอดวาย

คัดเลือกแม่ทัพใหญ่ทลายจ๊กก๊ก

งำเต็ก ปรากฏบทบาทอีกครั้ง เมื่อเล่าปี่ยกทัพมาจากเสฉวนหมายจะล้างแค้นให้กวนอู ขณะที่ลิบองผู้ชนะกวนอูได้ก็ตายไปแล้ว ไม่รู้จะหาใครเป็นแม่ทัพใหญ่ไปสู้กับเล่าปี่ งำเต็กเป็นผู้เสนอแนะลกซุน บัณฑิตหนุ่มวัย 29 ปี ที่รักษาเมืองเกงจิ๋วอยู่ ซุนกวนเห็นดีด้วย แม้ที่ปรึกษาหลายคนคัดค้าน แต่งำเต็กยืนยันว่า ลกซุนสามารถทำการนี้ได้ และที่สุดก็เป็นไปดั่งที่งำเต็กคาดไว้ทุกประการ 


ตำแหน่ง

เมื่อซุนกวนตั้งตนเป็นฮ่องเต้ ได้ตั้งให้งำเต็ก เป็น ราชเลขาธิการ และ มหาราชครูตามลำดับ 


ถึงแก่ความตาย

เมื่องำเต็กถึงแก่อสัญกรรมซุนกวนอาลัยมากถึงกับกินข้าวไม่ลงหลายวัน


ขอขอบคุณ

รูปภาพจากเกมส์ Romance of the three kingdom 12
หนังสือ นวนิยายภาพสามก๊กของเฉินเหว่ยตง

วันอังคารที่ 9 กรกฎาคม พ.ศ. 2556

ตอนที่ 15.ศึกแตกหักอ้วนเซีย และ ไร้ความดีความชอบ

จูฮี เล่าปี่จึงล้อมเมืองไว้อีกครั้งหนึ่ง ในขณะที่ล้อมเมืองอยู่นี้ซุนเกี๋ยนได้ยกทหาร 1,500 มาถึง จึงสมทบเข้ากับทัพหลวงของจูฮี จูฮีมีความยินดียิ่งนักจึงจัดทหารสามกอง กองหนึ่งให้เล่าปี่ตีด้านเหนือ กองหนึ่งให้ซุนเกี๋ยนตีด้านใต้ แล้วจูฮีพาอีกกองไปตีด้านตะวันตก เว้นไว้แต่ด้านตะวันออก


ในขณะเข้าตีเมืองนั้น ซุนเกี๋ยนอาศัยความกล้าหาญปีนขึ้นไปบนกำแพงเมืองอ้วนเซียได้ เตียวฮ่องเห็นเหตุการณ์จึงขึ้นม้าถือง้าวจะเข้ารบด้วยซุนเกี๋ยน แต่พอเตียวฮ่องเข้ามาใกล้เชิงเทิน ซุนเกี๋ยนก็โจนลงจากกำแพงเข้าชิงง้าวจากเตียวฮ่อง แล้วฟันเตียวฮ่องตกม้าตาย

ส่วนซุนต๋องเห็นเมืองแตกก็คิดจะหนี แต่ถูกเล่าปี่ยิงด้วยเกาทัณฑ์ตกม้าตาย 

กองทัพของจูฮียกเข้าเมืองได้แล้วฆ่าทหารซุนต๋ง เตียวฮ่องตายหมื่นเศษ และยึดสินศึกได้เป็นจำนวนมาก

จูฮี เล่าปี่ ซุนเกี๋ยน เสร็จศึกเมืองอ้วนเซียแล้ว จึงยกทหารไปยึดหัวเมืองต่างๆที่ถูกฝ่ายกู้ชาติยึดไว้กลับคืนถึงสิบสี่สิบห้าหัวเมือง จัดการปกครองเข้าที่เข้าทางแล้วจึงยกทัพกลับเมืองหลวง กราบทูลรายงานความทั้งปวงแก่พระเจ้าเลนเต้ พระเจ้าเลนเต้ทรงทราบความแล้ว จึงโปรดให้จูฮีเป็นแม่ทัพประจำกองบัญชาการทหารกลางเช่นเดียวกับฮองฮูสง มีตำแหน่งเฝ้าและให้เป็นเจ้าเมืองโห้หลำ ส่วนซุนเกี๋ยนโปรดให้ไปเป็นกรมการหัวเมือง มีอำนาจบัญชาทหารห้ากองพัน

สำหรับเล่าปี่มิได้ตรัสประการใด เล่าปี่คอยท่าบำเหน็จอยู่ในเมืองหลวงเดือนเศษ ไม่ได้ข่าวคราวประการใดก็เสียน้ำใจนัก


เล่าปี่หลังจากถูกปิดบังความชอบจากการกรำศึกที่ยากเข็ญแสนสาหัสแล้ว ได้แต่เฝ้ารอความหวัง แต่ไร้ข่าวคราว วันหนึ่งเล่าปี่ กวนอู เตียวหุยไปเดินเล่นชมเมืองพบเตียวกิ๋น ซึ่งเป็นมหาดเล็กในพระเจ้าเลนเต้ และทราบข่าวว่าไม่ค่อยกินเส้นกับพวกสิบขันที เล่าปี่จึงเข้าไปหา กระทำคำนับ แนะนำตัวเองแล้วร้องทุกข์ว่าได้ทำความชอบในการทำศึกปราบโจรโพกผ้าเหลืองเป็นอันมากแต่ไม่ได้รับปูนบำเหน็จความชอบใด ๆ แล้วเล่าความทั้งปวงให้เตียวกิ๋นฟัง

เตียวกิ๋นคงเห็นเป็นทีจะได้เล่นงานสิบขันที จึงพาเล่าปี่เข้าเฝ้าพระเจ้าเลนเต้กราบทูลว่า “เกิดโจรโพกผ้าเหลืองขึ้นครั้งนี้ เพราะเหตุด้วยพระองค์เชื่อฟังขันทีสิบคน ขันทีสิบคนนั้นตัดสินเนื้อความอาณาประชาราษฎร กลับจริงเป็นเท็จ เท็จเป็นจริง ขุนนางผู้ใหญ่ผู้น้อยซึ่งเป็นยุติธรรมนั้นให้ถอดเสีย เอาสินบน ผู้หาสัตย์ไม่เอามาตั้งเป็นขุนนางผู้ใหญ่ผู้น้อย บ้านเมืองก็เกิดจลาจล อาณาประชาราษฎรได้ความเดือดร้อนมาคุมเท่าบัดนี้ ข้าพเจ้าคิดว่าจะให้เอาขันทีสิบคนไปตัดศีรษะ ประกาศแก่อาณาประชาราษฎรทั้งปวงให้ทั่วทุกหัวเมืองซึ่งขึ้นแก่เมืองหลวง ใครมีสติปัญญาเป็นยุติธรรมมีความชอบก็ให้ตั้งเป็นขุนนาง โดยยศถาศักดิ์ตามสมควร บ้านเมืองก็จะอยู่เย็นเป็นสุขสืบไป

คำกราบทูลนี้ฟังแล้วเห็นได้ว่า เตียวกิ๋นเป็นขุนนางที่ซื่อตรงต่อแผ่นดินคนหนึ่ง แต่เพราะความไม่พอใจสิบขันทีล้นอยู่ในอก เตียวกิ๋นที่สู้นำเล่าปี่เข้าเฝ้ากลับไม่กราบทูลเสนอความชอบของเล่าปี่แม้แต่คำเดียว เอาแต่ขอให้ประหารสิบขันทีเสีย แต่อาจเป็นโชคดีของเล่าปี่ เพราะหากเสนอความชอบไปแล้วเล่าปี่ก็อาจต้องรับชะตากรรมที่ไม่คาดคิดได้

สิบขันทีฟังคำกราบทูลอยู่ก็ตกใจ เพราะความที่เตียวกิ๋นกราบทูลนั้นเป็นเรื่องใหญ่มีโทษถึงตาย จึงแสร้งถอดหมวกยศ ทำทีเสียใจจะลาออกจากราชการ แล้วร้องไห้ขอความสงสารว่า ถูกใส่ร้ายเกิดจากความอิจฉาของเตียวกิ๋น และเป็นความอิจฉาที่มีต่อฮ่องเต้ เพราะสิบขันทีได้ปรนนิบัติรับใช้เป็นอันดีด้วยความสัตย์สุจริตและเสียสละอันสูงสุด ไม่เคยคิดเห็นแก่ครอบครัวหรือญาติพี่น้อง กราบทูลแล้วสิบขันทีได้ตำหนิเตียวกิ๋นต่อหน้าพระพักตร์ว่าเตียวกิ๋นเป็นเพียงขุนนางผู้น้อย ไฉนบังอาจมาสั่งสอนฮ่องเต้ ทำให้เสื่อมเสียพระบรมเดชานุภาพ ไม่ยำเกรงพระราชอาญาในองค์พระจักรพรรดิ

พระเจ้าเลนเต้ได้ยินคำขันทีก็มีน้ำพระทัยคล้อยตาม จึงตำหนิเตียวกิ๋นว่า ตัวเป็นขุนนาง มีคนรับใช้ใกล้ชิดมากมายอยู่แล้ว พระองค์เป็นถึงพระมหากษัตริย์มีขันทีคอยรับใช้บ้างทำไมต้องมาอิจฉาริษยากัน แล้วตรัสสั่งให้ทหารไล่เตียวกิ๋นและ เล่าปี่ออกไป

นี่คือปรากฏการณ์ปูนบำเหน็จในแผ่นดินของเลนเต้ โดยที่เล่าปี่หารู้ไม่ว่า ความดีความชอบในแผ่นดินนี้ไม่ได้ขึ้นอยู่กับผลงาน แต่ขึ้นอยู่กับน้ำหนักของสินบนเท่านั้น

ขอขอบคุณ 

สามก๊กฉบับคนขายชาติ
http://www.paisalvision.com/2008-10-30-11-41-42/59--8-.html
ภาพจากเกมส์ Romance of the kingdom 12